สถาบันพ่อแม่ไทย

 

วิธีการหรือจัดกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะพ่อกับแม่

1. ให้ความรักความอบอุ่น ความมั่นคงปลอดภัย

2. มีการพูดจาสื่อสารที่ดีต่อกัน

3. มีการส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตให้ลูก ฝึกให้รู้จักช่วยเหลืองานบ้าน ฝึกให้ลูกได้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง

4. สอนให้ลูกทำความดี มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุญ

5. ส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาในวัยที่เหมาะสม

6. สิ่งสำคัญที่สุดของช่วงเวลาที่มีคุณภาพก็คือ พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็น และเลียนแบบได้ ทั้งนี้การอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาว่าพ่อแม่ต้องอยู่กับลูกยาวนานแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่ปฏิบัติ อย่างไรกับลูก หรืออยู่ร่วมกับลูกอย่างไร

ดังนั้น พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมที่ดีและสมบูรณ์ จะทำให้ครอบครัวมีความสุข อบอุ่น ทุกคนอยากที่อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา ทำกิจกรรมร่วมกัน

คู่สามีภรรยาที่มีความพร้อมและตัดสินใจมีลูกแล้ว จะต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่ๆเกิดขึ้นตามมา โดยมีบทบาทใหม่ในการเป็นพ่อและแม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ๆสำคัญและมีความรับผิดชอบสูงอัน ได้แก่

1. การให้ความเจริญเติบโตทางด้านร่างกายและจิตใจ
พ่อแม่มีหน้าที่ต้องให้ความเอาใส่ลูกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ในด้านร่างกายเป็นความจำเป็นในอันดับแรกของชีวิต ในขณะที่ลูกยังช่วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่มีหน้าที่ต้องดูแลหาอาหาร เครื่องนุ่งห่มและดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย ในด้านจิตใจก็ได้แก่การให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแก่ลูก สร้างความรู้สึกให้ลูกรู้สึกถึงการเจริญเติบโตด้วยความเป็นมิตร มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น เกิดความภูมิใจกับสถานภาพของตนเองในครอบครัว

2. การอบรมสั่งสอน
พ่อแม่มีหน้าที่ต้องปลูกฝังให้ลูกสามารถควบคุมตัวเองและปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการเข้าสังคม มารยาทสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้

3. การเอาใจใส่
พ่อแม่ต้องคอยเอาใจใส่ดูแลลูก เพื่อสังเกตและควบคุมพฤติกรรมของลูกให้ดำเนินไปได้อย่างถูกครรลองคลองธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคม อันได้แก่ ด้านสุขภาพจิต
เพราะเด็กบางคนอาจมีความผิดปกติด้านสภาพจิตใจ ด้านความผิดปกติทางเพศซึ่งต้องได้รับการแก้ไขบำบัดเพื่อแก้ปัญหา ด้านการใช้ยาเสพติดเด็กสมัยใหม่จะเข้าถึงได้ค่อนข้างง่ายจึงต้องใช้การสังเกตเพื่อป้องกันปัญหา ด้านการใช้เวลาว่างพ่อแม่ควรต้องแนะนำให้เด็กได้ใช้เวลาว่างตามความถนัดตามความสนใจ ให้คำแนะนำและส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ความเชื่อและความคาดหวังที่แตกต่างกันไป ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ปกครองในการกำหนดการเรียนรู้ของลูก

ความคิดของผู้ปกครองในภูมิภาคเอเชียแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ซึ่งสะท้อนลักษณะวิธีการที่ผู้ปกครองให้ความหมายต่อการเรียนรู้ การให้คุณค่าของการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา บทบาทการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กในการเรียนรู้ รวมถึงความห่วงใยต่ออนาคตของลูก

1. The Concerned (กระบวนความคิดแบบกังวล)

พ่อแม่กลุ่มนี้สนใจและกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอุปกรณ์ดิจิทัลต่อการศึกษาของลูก พวกเขากังวลไม่เฉพาะที่ลูกๆ ต้องเผชิญกับความหลากหลายของเทคโนโลยี แต่รวมถึงผลกระทบที่เทคโนโลยีมีอต่อการเรียนรู้และต่อการพัฒนาทักษะในด้านสังคมและการเข้าสังคม ผู้ปกครองกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับวิธีการศึกษาแบบดั้งเดิม มากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเชื่อว่าเด็กๆ จะเสียสมาธิได้ง่าย เมื่อต้องอ่านบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเด็กน่าจะได้เรียนรู้มากขึ้นจากสิ่งพิมพ์หรือตำรา

 

2. The Realist (กระบวนความคิดแบบสัจนิยม)

พ่อแม่ในกลุ่มนี้ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การเล่น และการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย พวกเขาพร้อมที่จะเปิดรับ เน้นเรื่องการปฏิบัติ ต้องการให้ลูกได้สัมผัสโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาอยากให้ลูกๆ พัฒนาทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้นอกเหนือจากในห้องเรียนและจะช่วยให้พวกเขาเป็นเลิศ กลุ่มพ่อแม่ลักษณะนี้จะชื่นชอบอุปกรณ์ดิจิทัล เนื่องจากสามารถช่วยให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ไอเดียใหม่ๆ

 

3. The Typical (กระบวนความคิดตามขนบ)

พ่อแม่ในกลุ่มนี้ให้คุณค่ากับการพัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงและการเรียนรู้จากประสบการณ์ พ่อแม่ลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะยอมรับว่า การเรียนรู้ทั้งทางดิจิทัลและจากสิ่งพิมพ์เหมาะสมและให้ผลการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาทักษะและสติปัญญาด้านคำศัพท์และความเข้าใจ

 

4. The Overachiever (กระบวนความคิดที่เน้นประสบความสำเร็จ)

พ่อแม่ลักษณะนี้เรียกอีกอย่างว่า Tiger Parents มีลักษณะแสดงความต้องการเข้าไปช่วยผลักดันให้เด็กเรียนรู้และควบคุมเนื้อหาและเส้นทางของการเรียนรู้ ให้ลูกได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ พวกเขาเชื่อว่าอุปกรณ์ดิจิทัลจะช่วยให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและไอเดียต่างๆ ในขณะที่สื่อการเรียนรู้ที่เป็นสิ่งพิมพ์และกิจกรรมทางกายภาพช่วยส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

 

5. The Detached (กระบวนความคิดแบบปลีกตัว )

พ่อแม่กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่เงียบและเก็บตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่ม แม้พวกเขาใช้เวลาเรียนรู้กับลูกน้อยที่สุด แต่พวกเขากระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสังคม ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขามีแนวโน้มที่เป็นคนที่เก็บตัว จึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เประเภทท่องจำ การติวเสริม และร่วมกิจกรรมทางสังคม นอกจากนี้ ในด้านการสร้างความผูกพัน พวกเขาต้องการควบคุมเนื้อหาและเส้นทางการเรียนรู้ของลูกๆ โดยแม่จะมีบทบาทในการเรียนรู้ของลูกมากกว่าฝ่ายพ่อ

พ่อแม่ช่วยเสริม Self-Esteem ของลูกได้ไม่ยาก เช่น

1. เป็นแบบอย่างที่ดี ถ้าพ่อแม่แสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่รู้สึกดีกับตนเอง ไม่ว่าในเรื่องการงาน ครอบครัว ความสามารถ จิตใจ ร่างกาย ฯลฯ ไม่เอาแต่วิจารณ์หรือหมกมุ่นกับจุดอ่อนหรือด้านลบของตนเอง และลูกได้เห็นพ่อแม่แสดงความรู้สึกดีต่อคุณค่าของคนอื่น เด็กก็จะเรียนรู้ที่เป็นอย่างนั้น

2. ช่วยให้ลูกเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น ทุกวันที่เติบโตขึ้น เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว จากไม่เป็นสู่เป็น ไม่รู้สู่รู้ แต่พ่อแม่ต้องช่วยนำทางให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากขึ้นในชีวิตรอบตัว การช่วยตัวเอง การงานในบ้าน เรื่องโลกที่กว้างขึ้นฯลฯ เมื่อเขาเรียนรู้และทำได้ เข้าใจได้ หรือทำได้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน เด็กก็จะภาคภูมิใจในตนเอง นอกจากนี้ การชวนลูกทบทวนถึงสิ่งที่ทำผ่านไป นำผลที่เกิดไม่ว่าด้านบวกหรือลบมาไตร่ตรองพิจารณา ก็จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้นและเห็นแนวทางที่ตัวเองจะเรียนรู้เพิ่มขึ้นไปอีก

3. ให้โอกาสลูกตั้งเป้าหมายและลองทำจนสำเร็จ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กทุกคนก็อยากประสบความสำเร็จ ควรให้ลูกฝึกตั้งเป้าหมายเล็กๆของตัวเขา วางแผน แล้วทดลองทำให้สำเร็จ เช่น ถ้าลูกพูดว่า “หนูอยากพับนกกระดาษ” ก็ให้เขาตั้งเป็นเป้าหมาย เตรียมอุปกรณ์ หาวิธีพับ ทดลองทำ เพียงทำเสร็จ ความภาคภูมิใจในตัวลูกก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่ามันจะสวยหรือไม่ก็ตาม

4. ให้ลูกได้พบสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่ เด็กทุกคนมีความแตกต่าง พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกค้นหาสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาถนัด สิ่งที่เขามีความสุขที่จะทำ ด้วยการให้ลูกมีโอกาสพบเจอประสบการณ์ที่หลากหลาย จนพบว่า ตนชอบในสิ่งหนึ่งมกกว่าอีกสิ่งหนึ่ง ถ้าเขาเจอสิ่งที่ใช่ เขาจะมีความมุ่งมั่น ที่จะทำมันจนสำเร็จ

5. พัฒนาที่จุดแข็งของลูกไม่ใช่จี้จุดอ่อน มนุษย์ทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อน ไม่มีใครดีพร้อมทุกด้าน การจี้จุดอ่อนเป็นการลดทอนคุณค่าในตนเองของคนทุกคน ไม่มีใครชอบทั้งนั้น ดังนั้น พ่อแม่ต้องเน้นที่การพัฒนาจุดแข็ง ส่งเสริมให้กำลังใจในจุดแข็ง เมื่อเขามั่นใจในจุดแข็งของเขา เขามักจะมีพลังในการจัดการกับจุดอ่อนของตน

6. ชมเชยลูกที่การกระทำไม่ใช่ที่ผลลัพธ์ คำชมเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจของมนุษย์ทุกคน พ่อแม่ต้องชมลูกเป็น โดยชมที่ความพยายาม การกระทำ เช่น “ลูกทำได้ครั้งนี้เพราะพ่อแม่เห็นลูกตั้งใจทุ่มเทมาก” ไม่ใช่ชมแต่ผลลัพธ์ เช่น “ฉลาดมาก ทำคะแนนได้ดี” เพราะการชมที่ผลลัพธ์จะไม่ส่งผลบวกในระยะต่อไป นอกจากนี้ ต้องไม่ชมมากเกินไป “โอเว่อร์” เกินความจริง หรือชมน้อยไปอย่างเสียไม่ได้

7. ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงกับลูก ภาษิตไทยโบราณกล่าวว่า “วาจาพ่อแม่นั้นศักดิ์สิทธิ์” สื่อความหมายว่า พ่อแม่พูดอย่างไร ลูกก็มักจะเป็นเช่นนั้น เช่นถ้าพ่อแม่พูดว่า “เอ็งมันคนไม่เอาไหน เอ็งชั่ว” แนวโน้มที่เด็กจะเป็นอย่างนั้นก็มากขึ้น เพราะแม้แต่คนที่ใกล้ชิดซึ่งควรจะเห็นคุณค่าของเขามากกว่าใคร ก็ยังไม่เห็น ดังนั้น เขาก็จะประพฤติตนไปในทางที่พ่อแม่ด่าว่าประณาม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ถ้าพ่อแม่มองลูกในทางบวก “พ่อเชื่อว่าลูกทำได้” “แม่เชื่อใจว่าลูกไม่ทำเรื่องแบบนั้น” ลูกก็จะเป็นเช่นที่พ่อแม่พูดนั่นเอง

8. ฝึกให้ลูกได้เป็นผู้ให้ หรืออาสา มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี การมีโอกาสเป็นผู้ให้ มิใช่ผู้รับเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์หากแต่ทันทีที่ผู้ให้ได้ให้ ไม่จะให้วัตถุสิ่งของ ให้โอกาส ให้ความรู้สึกที่ดี ให้กำลังใจ ฯลฯ ความรู้สึกอิ่มเอิบ มีความสุข และเห็นคุณค่าในตนเองก็เกิดขึ้นทันที พ่อแม่จึงควรให้ลูกได้ฝึกฝนการเป็นผู้ให้เสมอๆ เพื่อเติมเต็ม Self-Esteem ไว้ในใจของลูก

การเลี้ยงดูเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ปัจจัยหลายๆ ด้าน การเลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกๆ จากพ่อแม่ก็เป็นองค์ประกอบหลักและมีผลโดยตรงที่ส่งเสริมให้ลูกน้อยเติบโตมามีพฤติกรรมที่ดี และมีความสุข ยกตัวอย่าง 6 พฤติกรรม ดังนี้

1. มีข้อตกลงร่วมกันกับลูก
การสร้างข้อตกลงให้ในครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญเพราะลูกน้อยอาจจะยังเด็กและไม่เข้าใจ ดังนั้นการสร้างข้อตกลงในครอบครัว เปรียบเสมือนการเตรียมพร้อมให้ลูกๆ สามารถปรับตัว เรียนรู้ใช้ชีวิตในสังคมได้

2. ยืดหยุ่นและไม่เข้มงวดเกินไป
ครอบครัวที่ดีต้องมีการกำหนดกติกา แต่ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไปหรือยืดหยุ่นจนเกินไป เน้นให้เด็กรู้จักปรับตัวและเรียนรู้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

3. พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ
คอยรับฟังลูกด้วยความใส่ใจ เพราะการพูดคุย-เล่นเป็นเพื่อน จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้น ลูกกล้าที่จะเปิดใจบอกเล่าเรื่องราวให้พ่อแม่ฟัง ไม่มีความลับต่อกัน

4. ใช้เวลากับลูกอย่างเต็มที่
แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะเหนื่อยจากหน้าที่การงานที่ต้องทำ แต่อาจจะมีการแบ่งเวลาสักเล็กน้อย หรือวันว่างใช้เวลากับครอบครัวกับลูกอย่างเต็มที่ พูดคุยทำกิจกรรม เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก เช่นการปรับตัวเข้าสังคม การเล่นกับเพื่อน ทำให้เด็กไม่ขาดความอบอุ่นนั่นเอง

5. อนุญาตให้ลูกน้อย มีโอกาสเผชิญหน้ากับความท้าทาย
การที่ปล่อยให้ลูกเล่น หรือทำกิจกรรมที่ท้าทาย อาจส่งผลต่อความกล้าของลูก ไม่เป็นผู้กล้า ลองทำ ไม่เคอะเขิลในการเข้าสังคม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรหวงลูกจนเกินไป จนไม่ปล่อยให้ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ควรปล่อยให้ลูกทำกิจกรรม พร้อมๆ กับคอยดูแลอยู่ห่างๆ และแนะนำ เป็นกำลังใจเสริมเคียงข้างลูก

6. ให้ความรักแก่ลูกโดยไม่มีเงื่อนไข
ข้อนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเป็นอย่างมาก ความรักจากพ่อแม่ส่งผลต่อลูกน้อย เพราะการให้คำแนะนำ การสนับสนุนในสิ่งที่ถูกที่ควร ให้ลูกได้เรียนรู้ เมื่อลูกทำถูกต้องให้คำเชยชม พร้อมโอบกอดและตักเตือนในวันที่เจอปัญหา จะสร้างสายสัมพํนธ์ที่ดี การมอบความรักให้ลูกๆ โดยไร้ซึ่งเงื่อนไข จะเติมเต็มความอบอุ่นให้ลูก สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีให้ครอบครัวนั่นเอง

Visitors: 1,679,550