เปิดห้องรับแขก โค้ชเทอดทูน ประธานสถาบันโค้ชไทย

Q1: อยากให้โค้ชเทอดทูนเล่า Background ก่อนมาเป็นโค้ช

  ผมโตมาจากวงการบริหารทรัพยากรมนุษย์และประสิทธิภาพองค์กร (Human Resources Management and Organization Effectiveness)  ครับพอเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจและทำงานที่อเมริกาเกือบ 10 ปีกลับมาไทย ตำแหน่งแรกคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล และตำแหน่งสุดท้าย คือ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคล รวมแล้วใช้ชีวิตทำงานในองค์กรประมาณ 25 ปี กับบริษัทข้ามชาติ เช่น Pepsi, Sony, Nike, Nokia และ ที่สุดท้ายคือ Maersk ก่อนออกมาอยู่ในสายงานด้านการเรียนรู้ ที่ปรึกษา และ โค้ชแบบเต็มตัว

 

 Q2: เริ่มรู้จักเกี่ยวกับการโค้ชตั้งแต่เมื่อไหร่

      ผมได้ยินคำว่า Coaching ครั้งแรกตอนอยู่ที่ Nike Thailand ก็สักประมาณ 15 ปีมาแล้วครับ Coaching เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ส่วนในโครงการพัฒนาภาวะผู้นำที่ทาง Nike Inc. บริษัทแม่จากอเมริกาให้หัวหน้างานและผู้นำของบริษัทเรียนรู้โดยส่ง Trainer มาจากอเมริกา และผมเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ก็ต้องดูแลการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ ว่ากันจริง ๆ แล้วตอนนั้นคำว่า Coaching ก็ยังไม่ชัดเจนสำหรับผมหรอกครับ ผมเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องการสอนงานอยู่นานเลย ประกอบกับ Nike เป็นบริษัทผู้นำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านกีฬา บทบาทของโค้ชทางธุรกิจและโค้ชทางกีฬาก็พัวพันกันไปมาทำเอางงพอสมควร ซึ่งผมก็มารู้เอาหลายปีให้หลังว่าโค้ชกีฬากับโค้ชธุรกิจนี้เป็นคนละอย่างกันเลยครับ

 

Q3: อย่างนี้ก็แสดงว่าโค้ชเทอดทูนเริ่มต้นจากใช้การโค้ชในองค์กร

     ใช่ครับ แต่ไม่ได้ใช้จริง ๆ จัง ๆ จะเรียกว่าใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ ในตอนแรกก็ได้ อย่างที่บอกไปแล้วครับว่าการโค้ชเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ ในตอนนั้น เพราะแม้แต่ในอเมริกาหรือยุโรปการโค้ชเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้วก็เป็นคนละเรื่องกับการโค้ชสมัยใหม่อย่างในปัจจุบันนี้นะครับ เอาง่ายๆ เลยครับ สหพันธ์โค้ชนานาชาติ หรือ International Coach Federation (ICF) ก่อตั้งเมื่อปี 1995 ก็เพิ่งจะครบ 21 ปีในเร็ว ๆ นี้ ช่วงแรกก็คงมีการมั่วกันมากหน่อย

 

Q4: แล้วเริ่มสนใจเกี่ยวกับการเป็นโค้ชตอนไหน

     ตอนอยู่ที่ Maersk ครับ ซึ่งอยู่นานถึง 10 ปีเต็มไม่ขาดไม่เกินแม้กระทั่งวันเดียว เริ่มจาก 5 ปีก่อนผมออกจากที่นั่น ผมรับผิดชอบงานอยู่ 2 อย่าง ตำแหน่งแรก คือผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยสำหรับ Maersk Group Thailand และตำแหน่งที่สอง คือผู้จัดการด้านประสิทธิภาพและการพัฒนาองค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ให้กับ Maersk APAC ประมาณ 7-8 ประเทศ ผมมีลูกน้องที่นั่งทำงานอยู่ทั้งที่ไทยและสิงคโปร์ ซึ่งงานหลังที่เกี่ยวกับ OD นี่แหละครับทำผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างและพัฒนาคนเก่งและผู้นำให้กับองค์กรนี้ ซึ่งบริษัทแม่ที่เดนมาร์ก คือ A.P. Moller-Maersk มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาคนเก่งติดอันดับโลกเลยทีเดียว และตอนนั้นผมลงเรียน Applied Psychology ที่ Copenhagen Business School อยู่ 2 ปีเต็มก็เริ่มชอบด้านจิตวิทยาประยุกต์ การโค้ชได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงานของผมก็ตอนช่วงนี้แหละครับเพราะต้องดูและพัฒนาหัวหน้างานทุกประเทศให้มีความสามารถในการเป็นโค้ช ตอนนั้น Maersk ใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายในมาช่วยพัฒนาการโค้ชจากยุโรปและอเมริกา ส่วนที่ถามว่าเริ่มสนใจเกี่ยวกับการเป็นโค้ชตอนไหนก็คงบอกได้ว่าเมื่อรู้ว่าการโค้ชเป็นวิธีการสำคัญที่สุดที่ใช้เป็นเครื่องมือแทรกแซง หรือ Intervention ในการพัฒนาองค์กรที่สามารถลงไปลึกถึงศักยภาพของผู้อื่น คำว่า “ศักยภาพ” นี่แหละครับที่มีเสน่ห์และแรงดึงดูดให้ผมค้นหาความหมายที่แท้จริงของการโค้ช ลองคิดดูสิครับว่าถ้าคนเราสามารถรู้วิธีปลดปล่อยศักยภาพได้จริง ๆ มันจะน่าอัศจรรย์แค่ไหน



Q5: อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ออกจากองค์กรแล้วหันมาทำงานด้านการโค้ชแบบเต็มตัว

     ก็คงเป็นเพราะพลังของการโค้ชนั่นแหละครับ ผมคิดว่าผมถูกจริตกับการโค้ชนะครับ ดูได้ตั้งแต่การเติบโตมาจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ ที่บ้านคุณพ่อกับคุณแม่ของผมให้อิสระทางความคิดกับลูก ๆ มาก ผมเลยไม่อยู่ติดกับกรอบความคิดที่คนอื่นให้มา และก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดมาเป็นคนดื้อ เลยไม่เชื่อและไม่ชอบวิธีการที่มีคนอื่นมาบอก มาสอน มาแนะนำเท่าไหร่ ผมชอบคิดเองและเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่า ซึ่งการคิดวิเคราะห์ให้เกิด “ปัญญา” นี่แหละถือเป็นหัวใจของการโค้ชเลยทีเดียว ผมเป็นคนชอบใช้จินตนาการและมีความคิดสร้างสรรค์มาตั้งแต่เด็ก ชอบงานศิลปะและภาษา สองอย่างนี้มีอิทธิพลและความสำคัญกับการเป็นโค้ชมากครับ ตอนปริญญาตรีผมเรียนกฎหมายที่จุฬา ฯ ก็ได้ความรู้และนิสัยอันมีค่าอย่างมากในการวิเคราะห์ จับประเด็นแบบนักกฎหมาย แถมต้องใช้ภาษากฎหมายให้รัดกุม ถึงแม้ผมจะไม่ได้ทำงานสายกฎหมายแต่หันมาจับเรื่องคน ก็ต้องขอกราบขอบคุณปรมาจารย์ด้านกฎหมายคุณภาพแนวหน้าระดับประเทศมา ณ ที่นี้ที่ได้ประสิทธิประสาทการเข้าไปถึงแก่นของการสื่อสารของผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือไม่ ว่าไปแล้วผมโชคดีมาก ๆ ครับที่ได้มีโอกาสพัฒนาการใช้สมองทั้งด้านซ้ายและขวาอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โค้ชต้องใช้ทั้งความสามารถในการวิเคราะห์และจินตนาการครับ คือต้องเก่งใน “การคิดวิเคราะห์แบบนอกกรอบ” เป็นประมาณนั้น คำนี้ผมคิดขึ้นมาเองเล่น ๆ นะครับ



Q6: ทราบว่าโค้ชเทอดทูนเริ่มต้นด้วยการเป็น Trainer ด้านการโค้ชก่อนมาเป็นโค้ชผู้บริหาร

     ผมบรรยายเรื่องการโค้ชและบทบาทหัวหน้างานในฐานะโค้ชมาประมาณเกือบ ๆ 10 ปีตั้งแต่ยังทำงานประจำอยู่ให้กับองค์กรและสถาบันการศึกษาเกือบ 200 แห่งทั้งในและต่างประเทศ รวมผู้เข้าเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 4-5 หมื่นคน ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้าน Performance Coaching และ Leadership Coaching ครับ องค์กรแรกที่ให้เกียรติและโอกาสผมบรรยายในหัวข้อนี้คือ CP Foods ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงรับผิดชอบอยู่ทั้งในและต่างประเทศ การเป็น Trainer ในหัวข้อนี้ท้าทายมาก ๆ ครับเพราะต้องสามารถช่วยให้ผู้เรียนรู้ยอมรับ เข้าใจ และ สามารถนำไปใช้ได้จริง สำหรับผู้บริหารหรือหัวหน้างานบางคนเริ่มจากการไม่ยอมรับจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับการโค้ชก็เป็นอุปสรรคแล้วครับ ปัจจุบันผมเป็นวิทยากรนานาชาติ (international trainer) ของ NeuroLeadership Group ซึ่งเป็นองค์กรการโค้ชนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกก่อตั้งโดย Dr. David Rock กูรูด้านการโค้ชเชิงประสาทวิทยาอันดับหนึ่งของโลก ผมได้ประสบการณ์จากการโค้ชผู้ที่สนใจเป็นโค้ชมืออาชีพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากองค์กรนี้อย่างมากครับ ผมภูมิใจที่เป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่อยู่ในทีม Trainer ที่ฝึกคนหลาย ๆ ชาติให้เป็นโค้ชมืออาชีพตามมาตรฐานสากลตามหลักของ ICF การได้เห็นมุมมองเกี่ยวกับการโค้ชจากหลาย ๆ คน หลาย ๆ รุ่น ในต่างประเทศเป็นสิ่งที่มีค่าในการเรียนรู้เกี่ยวกับการโค้ชมากครับ

 

Q7: ปัจจุบันนี้โค้ชเทอดทูนใช้เวลากับการเป็น Trainer หรือ เป็นโค้ชมากกว่ากัน

     เป็น Trainer 60% เป็นโค้ช 40 % ครับ แต่ต่อไปอาจเป็นไปได้ที่ต้องเป็นแบบครึ่งๆ เพราะมีงานด้านการโค้ชตัวต่อตัวและกลุ่มมากขึ้น ก็นับเป็นกระแสที่ดีมากครับ แล้วอีกอย่างคือ การโค้ชสามารถทำได้ทางโทรศัพท์หรือ Skype อย่างมีประสิทธิภาพ ผมสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงกับโค้ชของผมในต่างประเทศ



Q8: หลักสูตรการโค้ชบรรยายอะไรบ้าง

     ผมบรรยายเป็นภาษาไทยให้กับสถาบันโค้ชไทยทั้งแบบในและนอกองค์กร ส่วนภาษาอังกฤษผมมีประสบการณ์บรรยายให้กับ NeuroLeadership Group โดยเนื้อหาอ้างอิงจากสมรรถนะหลักของโค้ชที่กำหนดโดย ICF ครับ



Q9: สถาบันโค้ชไทยทำอะไรบ้าง

มีอยู่สามด้านหลักๆ ครับคือ วิชาชีพ วิชาการ และ วิจัย

     ด้านวิชาชีพ คือ พยายามให้การโค้ชได้รับการยอมรับเป็นวิชาชีพหนึ่ง ซึ่งผมมองว่าแล้วคงใช้เวลาพอควรและเรายังต้องเดินทางข้ามอุปสรรคนานาประการกันอีกไกล แต่การโค้ชเป็นสิ่งที่องค์กรทั้งหลายกล่าวถึงกันอยู่ และถึงแม้ต่างประเทศจะมีการยอมรับว่าการโค้ชเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องผ่านการรับรอง โค้ชในไทยก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมากครับ บุคคลจากอาชีพอื่นโดยเฉพาะที่ปรึกษา และ วิทยากรให้ความสนใจในการเป็นโค้ชกันมากแต่เรื่องการนำไปใช้เป็นอาชีพจริงๆ แบบไม่ผสมผสานการชี้นำ แนะนำ นั้นไม่รู้ว่าทำกันอย่างไรบ้าง ทักษะการโค้ชแบบนานาชาติของ ICF เป็นสิ่งเฉพาะตัวไม่ใช่อะไรๆ ก็เรียกกันว่าการโค้ช ลองดูง่ายๆ อย่างนี้ครับว่า ICF ให้ความสำคัญกับความชัดเจนของการเป็นโค้ชที่แตกต่างกับอาชีพอื่นๆ เรียกว่า ถ้าไม่สามารถทำได้ก็จะไม่ผ่านการประเมินเลยทีเดียว สถาบันโค้ชไทยมีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่หลักการโค้ชมาตรฐานสากลตามหลักของ ICF แบบ 100% เพื่อเตรียมความพร้อมโค้ชไทยก้าวไปสู่ AEC ในปีหน้านี้แล้วครับ

     ส่วนด้านวิชาการ นั้นสถาบันโค้ชไทยมีหลักสูตรโค้ชมืออาชีพมาตรฐานสากล (Professional Coaching Certification Program – PCCP) ที่เรียกกันว่าหลักสูตร “โค้ชไทย” โดยเรียนรู้แบบเข้มข้น 100 ชั่วโมงในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนเต็ม ผมและทีมงานยินดีที่จะใช้เวลากับผู้สนใจเป็นโค้ชแบบต้องเป็นโค้ชกันให้ได้ไม่เช่นนั้นไม่ให้ผ่าน เราจะให้ Feedback กันแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ผิดก็ว่าผิดถูกก็ว่าถูก โดยไม่แบ่งเรื่องอายุ ประสบการณ์ หรือ ตำแหน่งของผู้เข้าร่วมโครงการเพราะทุกคนเข้ามาเรียนรู้ใหม่กันหมด หลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือกับ Towards Mastery พันธมิตรจากออสเตรเลียมาช่วยให้คำปรึกษาการออกแบบหลักสูตรนี้จาก Towards Mastery Coach Training Program เพื่อให้มีความเป็นสากลอย่างลงตัวแบบไทยอย่างแท้จริง ผู้ที่สำเร็จหลักสูตรโค้ชไทยจะได้รับวุฒิบัตรจาก สถาบันโค้ชไทย และ Towards Mastery สำหรับ 60 ชั่วโมง Approved Specific Coaching Hours (ACSTH) ที่ได้การรับรองจาก ICF สามารถนำไปต่อยอดการเป็นโค้ชที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (ICF credential)

      สุดท้ายในด้านวิจัยและที่ปรึกษา สถาบันโค้ชไทยมุ่งเน้นการวิจัยด้านการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กรโดยผ่านหน่วยงานที่ใช้ชื่อว่า CCC (Creating a Coaching Cultures) เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กรของไทย มีเครื่องมือในการวินิจฉัยและประเมินว่าองค์กรใดมีวัฒนธรรมการโค้ชที่มีประสิทธิภาพเพียงใด ประกอบกับเรื่องการศึกษาส่วนตัว ผมเตรียมงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกตัวที่สองด้านการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กรโดยมีกรณีศึกษาเป็นองค์กรข้ามชาติและองค์กรไทยชั้นนำของประเทศ ผลงานวิจัยของผมกับวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คงจะทยอยออกมาในรูปบทความที่จะลงใน International Journal เป็นระยะครับ

     นอกจากนั้นสถาบันโค้ชไทยยังสนับสนุนกิจกรรม CSR หรือ จิตอาสาต่างๆ เช่น โครงการเมล็ดธรรมนำปัญญาที่ได้รับการสนับสนุนโดย CP Retailink ในเครือของ บมจ. CP All / โครงการโค้ชไทยหัวใจสีขาว เช่น ครูใต้หัวใจโค้ช ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) / โครงการโค้ชแมวหมาน่ารักเพื่อช่วยเหลือน้องแมวหมาจรจัดหาบ้าน / โครงการโค้ชเปลี่ยนชีวิตเป็นการบริการการโค้ชชีวิตจิตอาสาทุกวันพุธครับ

 

Q10: ทราบว่าโค้ชเทอดทูนมีบทบาทช่วยเหลือสนับสนุน ICF ในประเทศไทย

     ผมเป็น Founding President คือ ประธานผู้ก่อตั้ง ICF Bangkok Chapter ขณะนี้เรามีโค้ชมาตรฐานสากลที่ได้รับการรับรองโดย ICF ที่ไทยประมาณ 100 คนเป็นทั้งโค้ชชาวไทยและชาวต่างชาติจากจำนวนคนไทยเกือบ 70 ล้านคนก็ถือว่าน้อยมากๆ ICF เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีสมาชิกเป็นโค้ชกว่า 7 หมื่นคนทั่วโลก และจำนวนโค้ช ICF นั้นมากขึ้นๆ ทุกวันโดยดูจากจำนวนที่สมัครเข้ามาเพื่อรับการ accredit เป็น ACC PCC MCC ผมอยากเห็นโค้ชที่ได้รับการรับรองโดย ICF มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากๆ ครับ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่สถาบันโค้ชไทยพยายามสร้างโค้ชมืออาชีพประเภทนี้ออกมา

 

Q11: อยากให้แชร์เกี่ยวกับบทบาทการเป็นโค้ชของโค้ชเทอดทูนเอง

     ถ้าตอบสั้น ๆ ผมเป็นทั้งโค้ชผู้บริหาร โค้ชชีวิต และ โค้ชธุรกิจครับ ผมใช้วิธีการโค้ชตามหลักของ ICF อย่างสมบูรณ์แบบคือไม่มีการชี้นำหรือแนะนำอย่างใดทั้งสิ้น (pure coaching) เพราะผมเชื่อว่าโค้ชทุกคนของผมมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมผมเป็นเพียงผู้ใช้กระบวนการโค้ชสะท้อนให้เขาเห็นตัวเองเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ถ้ารู้หลักการโค้ชที่เน้นกระบวนการแล้วเราสามารถโค้ชใครก็ได้ เรื่องอะไรก็ได้ แต่ถ้าพูดถึง niche ของผมด้านการโค้ชก็จะเป็น performance coaching, leadership coaching, mindfulness coaching, EQ coaching และ sales coaching

 

Q12: โค้ชเทิดทูนมีอะไรแนะนำเกี่ยวกับผู้ที่อยากเป็นโค้ชมืออาชีพบ้าง

    ผมมองว่าการเรียนรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการโค้ชเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง นี่คือสิ่งที่สถาบันสอนการโค้ชทั่วโลกออกแบบมา เพื่อพัฒนาให้โค้ชมีหลักการที่มีประสิทธิภาพใช้กับโค้ชชี่ของตัวเอง ผมอยากเรียกว่ามันเป็นเรื่อง “ทฤษฎีของความไม่เป็นทฤษฎี” เพราะทักษะการโค้ช เช่น การถาม การฟัง การให้ข้อมูลป้อนกลับ การสร้างความไว้วางใจ การเข้าให้ถึง ฯลฯ มีอยู่ทั่วไปและเรารู้อยู่แล้วแต่ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ ทุกคนต้องเรียกว่ารู้ 80% แต่นำไปใช้ถูกแค่ 20% ก็ได้ เทคนิคและเคล็ดลับจาก Trainer ที่มีประสบการณ์และรู้ลึกรู้จริงจึงเป็นหัวใจเลยทีเดียว นอกจากนั้นการปฏิบัติก็เป็นสิ่งสำคัญมาก โค้ชมือใหม่ต้องเรียนรู้และฝึก จนกระทั่งตกผลึกความรู้ของตน ยิ่งโค้ชมากก็ยิ่งมีความชำนาญกับโค้ชที่มากันไม่ซ้ำรูปแบบ

     ถ้าสนใจเรียนรู้การเป็นโค้ชเป็นภาษาไทยผมแนะนำหลักสูตร PCCP (Professional Coaching Certification Program) โดยสถาบันโค้ชไทยร่วมกับ Towards Mastery

     ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็หลักสูตร BBCC (Brain-based Coaching Certificate)ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการโค้ชเชิงประสาทวิทยา โดย NeuroLeadership Group

  

Q13: สุดท้ายแล้วโค้ชเทอดทูนมีอะไรฝากเกี่ยวกับการโค้ชบ้าง

      การโค้ชเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องการความชัดเจนครับ คำนิยามของคำว่าโค้ชก็เป็นที่ถกเถียงกันมากทั่วโลกว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ผมเองเคารพการรับรู้การเข้าใจของทุกคนในข้อนี้เลยไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นโค้ช-ใครไม่เป็นโค้ชหรือเขาได้ใช้การโค้ชจริงๆ จังๆ หรือไม่ แต่สิ่งที่ผมเชื่อและปฏิบัติตามอยู่ทั้งมาตรฐานและจริยธรรมคือ หลักการของ International Coaching Federation ที่ให้คำนิยามไว้ว่า “การโค้ชคือการเป็นหุ้นส่วนกับผู้รับการโค้ชในกระบวนการกระตุ้นความคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขานำเอาศักยภาพทั้งส่วนทางตัวและวิชาชีพมาใช้อย่างสูงสุด” (Coaching is partnering with clients in a thought-provoking and creative process that inspires them to maximize their personal and professional potential) สิ่งที่ผมเชื่อมั่น คือ การโค้ชแบบให้เขาค้นพบตัวเองโดยไม่มีการชี้นำแม้แต่เล็กน้อยจะช่วยให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนครับ

เส้นทางการเรียนรู้ ดร. เทอดทูน ไทศรีวิชัย, PCC 

 การศึกษา

  • ปริญญาตรี ด้านกฎหมาย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์จาก Portland State University ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาเอก ด้านบริหารธุรกิจจาก University of South Australia ประเทศออสเตรเลีย
  • อนุปริญญา ด้านจิตวิทยาประยุกต์ จาก Copenhagen Business School ประเทศเดนมาร์ก
  • ปริญญาเอก ด้านพัฒนาองค์การและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ประสบการณ์ทำงาน

  • ผู้บริหารระดับสูงด้าน การบริหารทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาองค์กรทั้งในประเทศไทยแลต่างประเทศกว่า 30 ปี จากองค์กรชั้นนำของโลก เช่น Pepsi / Sony / Nike / Nokia และ Maersk
  • นักวิชาการ - นักวิจัย - ผู้เชี่ยวชาญ - นักเขียน - ที่ปรึกษา – อาจารย์ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

 

ปัจจุบัน

  • ประธานผู้ก่อตั้ง สหพันธ์โค้ชนานาชาติ สาขาประเทศไทย (Founding President, ICF Bangkok Chapter)
  • ประธาน สถาบันโค้ชไทยประธานสมาคม International trainer ของ NeuroLeadership Institute ในภูมิภาคAsia Pacific Professional Certified Coach จาก International Coach Federation (คนไทยคนแรก)

 

 

 

Visitors: 1,675,418